ข้อวัตรปฏิบัติภายในวัด

วัดของชาวพุทธมีข้อวัตรปฏิบัติของการอาศัยอยู่ร่วมกัน ภาษากายเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อการสื่อสารด้วยความสงบ สุภาพและเคารพนอบน้อม ผู้มาเยี่ยมเยือนวัดหรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับข้อวัตรปฏิบัติอาจจะรู้สึกอึดอัด หรืออาจจะไม่ใคร่แน่ใจว่าควรจะวางตัวและกระทำตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสม

ตามคำแนะนำที่ได้เสนอไว้ในหน้าเว็ปไซต์การเยี่ยมเยือน พระสงฆ์ผู้ประพฤติดีและปฏิบัติชอบจะไม่แสดงอาการก้าวร้าวหรือไม่พอใจต่อผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตนไม่เหมาะสม สิ่งที่สำคัญคือความตั้งใจและเจตนาดีของผู้มาเยือน กล่าวได้ว่า ความเคารพนอบน้อม มารยาทที่เรียบร้อยงดงามและอัธยาศัยอันเป็นมิตรคือข้อวัตรปฏิบัติพื้นฐานของการอาศัยอยู่ร่วมกันภายในวัด

พร้อมกันนั้นการสร้างความสามัคคีสมานฉันท์ภายในหมู่คณะและความสุภาพนอบน้อมต่อกันเป็นข้อวัตรปฏิบัติที่เอื้อต่อการเจริญสติและการสำรวมระวังกายวาจาในการอาศัยอยู่ร่วมกันทุกวัน

ภาษากาย

การทำอัญชลีหรือการไหว้เป็นภาษากายที่ถูกใช้เป็นประจำ การยกมือไหว้ในระดับอกพร้อมทั้งก้มศีรษะเล็กน้อยอันแสดงถึงความเคารพ ถือเป็นการทักทาย การลาจาก ความขอบคุณ หรือแม้แต่ขณะที่กำลังพูดคุยกับพระภิกษุสงฆ์ก็ควรทำอัญชลีตลอดการสนทนา

ตามธรรมเนียมปฏิบัติ การคุกเข่าก้มศีรษะกราบโดยให้หน้าผากจรดพื้น ๓ ครั้ง คือการแสดงความเคารพต่อพระพุทธรูปและพระภิกษุสงฆ์ โดยปกติผู้ที่อาศัยอยู่ภายในวัดจะกราบพระพุทธรูปทุกครั้งเมื่อเดินเข้าและออกจากศาลาหรือโบสถ์ และจะกราบครูบาอาจารย์หรือพระผู้ใหญ่ทุกครั้งหลังการสิ้นสุดการทำวัตรเช้าและเย็น

ในวัฒนธรรมของชาวพุทธถือว่าการชี้เท้าไปในทิศทางของพระพุทธรูปหรือพระภิกษุสงฆ์เป็นกิริยามารยาทที่ไม่สุภาพ การนอนหรือยืดเหยียดขาเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำภายในศาลาหรือโบสถ์ และในขณะที่มีการเทศน์หรือนั่งสมาธิควรอยู่ในอาการสงบสำรวม เวลาลุกนั่งหรือเปลี่ยนอิริยาบถควรกระทำอย่างเงียบเชียบ

ปฏิสัมพันธ์กับคณะนักบวช

กฏระเบียบหลายข้อในพระธรรมวินัยที่พระภิกษุสงฆ์รักษาอยู่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาส โดยเฉพาะฆราวาสที่เป็นสตรี เพื่อป้องกันการขัดต่อพระธรรมวินัย คำครหานินทาและความเข้าใจผิด ในขณะที่พระสงฆ์กำลังสนทนากับฆราวาสที่เป็นสตรี จำเป็นต้องมีบุรุษเพศ (อาจจะเป็นนักบวชหรือฆราวาสก็ได้) อย่างน้อยหนึ่งท่านอยู่ร่วมด้วย และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ พระภิกษุสงฆ์จะทำอัญชลีเพื่อแสดงการทักทายต่อฆราวาสแทนการจับมือหรือสวมกอด

ตามหลักพระธรรมวินัย พระภิกษุสงฆ์ถือการออกบิณฑบาตเป็นวัตร ดังนั้นพระสงฆ์มิอาจข้องเกี่ยวกับการจัดเตรียมหุงหาอาหารใดๆทั้งสิ้น รวมทั้งมิสามารถถือครอง รับและใช้จ่ายทรัพย์วัตถุปัจจัยทั้งหลาย มิสามารถปลูกพืชพรรณธัญญาหาร มิสามารถขุดไถดินหรือเก็บกักตุนอาหารเครื่องบริโภคทั้งหลาย อาหารและวัตถุไทยทานทั้งหลายที่ทางวัดได้รับมาล้วนเกิดจากกำลังจิตศรัทธาของญาติโยมทั้งสิ้น พระภิกษุสงฆ์จะสามารถฉันอาหารและเครื่องบริโภคต่างๆได้ (ยกเว้นน้ำ) ก็ต่อเมื่ออาหารและเครื่องบริโภคเหล่านั้นได้รับการประเคนโดยตรงให้กับพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น พระภิกษุสงฆ์มิอาจฉันอาหารและเครื่องบริโภคทั้งหลายที่มิได้รับการประเคน

การเรียกหรือกล่าวขานถึงพระภิกษุสงฆ์ควรจะมีคำนำหน้าชื่อทุกครั้ง การเรียกชื่อพระภิกษุสงฆ์โดยปราศจากคำนำหน้าชื่อถือเป็นการไม่สุภาพ คำนำหน้าชื่อสำหรับเจ้าอาวาสและพระเถระผู้ใหญ่ที่มีพรรษาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป คือ “อาจารย์” เช่น อาจารย์ปสันโน “อาจารย์” เป็นคำไทยที่มาจากคำว่า “อาจาริยา” ในภาษาบาลี ซึ่งมีความหมายว่า “ครู” สำหรับคำนำหน้าชื่อพระภิกษุสงฆ์ที่มีพรรษาน้อยกว่าสิบปี คือ “ท่าน” เช่น ท่านจาคะนันโท คำว่า “ท่าน” ก็เป็นคำไทยมีความหมายว่า “ภิกขุ”

ปฏิสัมพันธ์กับวัด

คณะสงฆ์อยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ สิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่างภายในวัดเป็นสมบัติของวัดคณะสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า รวมถึงผู้มาพักอาศัยภายในวัดมีหน้าที่ร่วมกันรับผิดชอบดูแลปกป้องและบำรุงรักษาวัดและสมบัติของวัดเพื่อประโยชน์ของพุทธศาสนิกชนทุกหมู่ทุกคณะตลอดไป

ทุกครั้งก่อนที่ทุกท่านจะเดินเข้าศาลาหรืออาคารที่พักต่างๆควรถอดรองเท้าไว้ด้านนอก และควรทำความสะอาดที่พักอาศัยให้เรียบร้อยก่อนจะกลับออกจากที่พัก โดยระเบียบปฏิบัติทั่วไปทุกท่านควรเคารพและเอาใจใส่ดูแลสมบัติของวัดทุกชิ้น

สิ่งของเครื่องใช้ทุกชิ้นที่ถูกเก็บรักษาไว้ภายในห้องเก็บของก็เป็นสมบัติของวัดเช่นกัน ไม่ว่าบุคคลผู้ใดหรือแม้กระทั่งพระภิกษุสงฆ์จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากพระผู้ดูแลก่อนที่จะหยิบและนำไปใช้ ฆราวาสที่ทำหน้าที่ผู้จัดการห้องครัวจะเป็นผู้ดูแลอาหารและเครื่องบริโภคต่างๆที่เก็บไว้ภายในวัด และการรับประทานอาหารจะเป็นไปตามเวลาที่ทางวัดกำหนดเท่านั้น ข้อวัตรปฏิบัติที่สำคัญคือพอใจในอาหารที่ได้รับตามเวลาที่กำหนด หากท่านใดมีความจำเป็นที่ต้องรับประทานอาหารนอกเหนือจากที่ได้รับหรือนอกเวลาที่กำหนดควรแจ้งให้ผู้จัดการห้องครัวรับทราบ