กิจวัตรประจำวันในวัดอภัยคีรี

ชีวิตของผู้พักอาศัยในวัดอภัยคีรีในดำเนินไปตามตารางกิจกรรมของวัด ซึ่งผสมผสานการปฏิบัติธรรมในเวลาส่วนตัวของแต่ละคนเข้ากับการปฏิบัติธรรมร่วมกับหมู่คณะ

ผู้คนส่วนใหญ่ในวัด ซึ่งรวมถึงพระสงฆ์, นักบวช, และฆราวาสที่พักอาศัยอยู่ที่วัด จะเริ่มวันใหม่โดยการตื่นนอนตอนประมาณ 3 หรือ 4 นาฬิกา และทำความสะอาดสถานที่พักของตน ซึ่งอาจจะเป็นกุฏิซึ่งกระจายกันอยู่ในป่าบนภูเขา ทั้งด้านในและด้านนอกที่พัก หรืออาจจะใช้เวลาในยามเช้าในการนั่งสมาธิหรือเดินจงกรม, สวดมนต์, ศึกษาธรรมะ, ทำโยคะหรือชี่กง, หรือทำกิจกรรมอื่นๆตามลำพัง จากนั้นเมื่อใกล้เวลา 5 นาฬิกา ทุกๆคนจะเดินมาจากสถานที่พักของตน ลงมายังศาลาบริเวณเชิงเขาเพื่อทำวัตรเช้าร่วมกัน ในฤดูร้อนทางวัดอาจย้ายการทำวัตรเช้าและเย็นไปที่บริเวณลานกว้างบนภูเขา

การทำวัตรเช้าจะเริ่มตอน 5 นาฬิกา ที่ศาลาหรือที่ลานบนภูเขา พระอาจารย์ผู้นำทำวัตรเช้าจะจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และทุกคนจะกราบพระร่วมกัน จากนั้นจะเป็นการสวดมนต์ซึ่งอาจจะเป็นภาษาบาลีหรืออังกฤษ และนั่งสมาธิร่วมกันเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ตามด้วยการสวดมนต์บทสั้นๆ และปิดท้ายด้วยการกราบพระรัตนตรัย และกราบพระอาจารย์ผู้ที่มีอาวุโสที่สุดในคณะร่วมกัน

ประมาณ 6.30 นาฬิกา ทุกคนจะได้รับแจกงานเล็กๆน้อยๆให้ทำ ซึ่งมักจะเป็นงานทำความสะอาดรอบๆบริเวณวัด

ระฆังจะดังเวลา 7 นาฬิกา เป็นสัญญาณว่าได้เวลาอาหารเช้า ซึ่งเป็นอาหารแบบเรียบง่าย (ข้าวโอ๊ต) เมื่อถึงเวลา 7.30 นาฬิกา ทุกๆคนจะเข้ามารวมกันในศาลาเพื่อประชุมแจกงานสำหรับวันนั้น ซึ่งอาจเป็นการถางทางเดิิินในป่า งานซ่อมบำรุงอาคารสถานที่ งานในสำนักงาน งานเตรียมอาหารสำหรับวันนั้น หรืออื่นๆ งานเหล่านี้ี้จะแบ่งทำในช่วงเช้าเป็นเวลา 3 ชั่วโมง การได้ร่วมกันทำงานเช่นนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งนักบวชและฆราวาสได้ทำบุญหรือถวายแรงกายและเวลาเป็นทานแด่คณะสงฆ์ และยังเป็นการฝึกสติและสัมมาวาจาขณะทำงานร่วมกับหมู่คณะด้วย หลังจากเสร็จการประชุมแจกงานแล้ว พระอาจารย์จะให้ข้อคิดประจำวันเล็กๆน้อยๆเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับวันนั้น

การทำงานในช่วงเช้าจะเสร็จประมาณ 10.30 นาฬิกา ทุกๆคนจะกลับมายังบริเวณศาลาเพื่อเตรียมตัวรับอาหารเพล ซึ่งจะประเคนในเวลาประมาณ 10.45 นาฬิกา (หรือ 11.00 นาฬิกาถ้าเป็นช่วง daylight saving time) โดยปกติแล้วพระสงฆ์จะได้รับการถวายอาหารจากฆราวาสทุกๆวัน และตามหลักของพระวินัยพระสงฆ์จะไม่สามารถฉันอาหารที่ไม่ได้รับการประเคนถวายได้, และจะไม่สามารถฉันอาหารได้หลังเวลากึ่งกลางของวัน (เที่ยงวัน หรือ 13.00 นาฬิกาถ้าเป็นช่วง daylight saving time) พระวินัยข้อนี้ได้รับการบัญญัติขึ้นเพื่อสร้างการพึ่งพาอาศัยกันระหวางพระสงฆ์และฆราวาส

หลังจากที่พระสงฆ์เข้ามารับอาหารลงในบาตรแล้ว ท่านจะกลับเข้ามาในศาลาเพื่อสวดมนต์ให้พรแก่ญาติโยม แล้วฉันอาหารอย่างเงียบๆโดยไม่พูดคุยกัน ญาติโยมที่มาวัดจะรับอาหารต่อจากนั้น และจะทานอาหารที่บริเวณใดก็ได้ตามสะดวก หลังรับประทาอาหารเสร็จแล้วทุกๆคนจะช่วยกันล้างจานและทำความสะอาดครัว ก่อนที่จะกลับไปยังที่พักของตนเพื่อปฏิบัติภาวนาเป็นการส่วนตัวในช่วงบ่าย

เวลา 17.30 นาฬิกาจะเป็นเวลาสำหรับน้ำปานะ พระอาจารย์เจ้าอาวาสหรือพระเถระรูปอื่นๆจะเข้ามานั่งในศาลา และสามารถพูดคุยหรือตอบคำถามธรรมะจากญาติโยมได้ในช่วงนี้

การทำวัตรเย็นจะเริ่มในเวลา 19.00 นาฬิกา อาจจะที่ศาลาหรือที่ลานกว้างบนภูเขา และทุกๆคนจะร่วมกันสวดมนต์และนั่งสมาธิเหมือนในตอนช่วงเช้า หลังจากเสร็จจาก การทำวัตรเย็นแล้ว ทุกๆคนจะกลับไปยังสถานที่พักของตนเพื่อพักผ่อนหรือภาวนาต่อ

ในทุกๆวันเสาร์หลังจากสวดมนต์และนั่งสมาธิแล้ว พระอาจารย์จะแสดงพระธรรมเทศนาเป็นเวลาประมาณ 45 นาที

ตารางกิจกรรมดังกล่าวนี้จะเปลี่ยนแปลงในวันพระ กล่าวคือ พระสงฆ์จำนวนหนึ่งจะออกบิณฑบาตในช่วงเช้า และกิจกรรมในวันพระจะมีเพียงแค่งานเล็กๆน้อยๆที่ได้รับมอบหมายให้ทำในตอน 6.30 นาฬิกา, อาหารเช้าตอน 7.00 นาฬิกา, อาหารเพล, และน้ำปานะ การทำวัตรเย็นในวันพระจะเริ่มเวลา 19.00 นาฬิกา เช่นเดียวกับวันเสาร์ และวันพระจะเป็นโอกาสของฆราวาสในการรับศีล 8 ในช่วงหลังการสวดมนต์และนั่งสมาธิด้วย จากนั้นพระอาจารย์จะแสดงพระธรรมเทศนา และจาก 22.00 นาฬิกาเป็นต้นไป พระสงฆ์, นักบวช, และญาติโยมที่สนใจ จะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมจนถึง 3.00 นาฬิกาของวันใหม่ การทำวัตรเช้าในวันใหม่จะเริ่มตอน 3.00 นาฬิกา และในวันหลังวันพระจะไม่มีตารางกิจกรรม แต่จะเปิดโอกาสให้ทุกๆคนได้พัก, ปฏิบัติภาวนาอย่างต่อเนื่องโดยไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ

กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ทำให้เราได้รู้จักนำการปฏิบัติภาวนาในรูปแบบ มาประยุกต์เข้ากับการเจริญสติในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เราได้นำเอากุศลจิตที่เกิดจากการทำสมาธิภาวนา มาใช้ในกิจวัตรประจำวันและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และเพื่อที่จะพัฒนาทาน, ศีล, และภาวนา ให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป